About Us

RISK MANAGEMENT SUBCOMMITTEE CHARTER

บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน)
กฎบัตรคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง

1. วัตถุประสงค์

คณะกรรมการบริษัทจัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงเพื่อกำหนดนโยบายด้านการบริหารความเสี่ยงให้ครอบคลุมทั้งองค์กร รวมทั้งกำกับดูแลให้มีระบบหรือกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงให้ครอบคลุมทั้งองค์กร รวมทั้งกำกับดูแลให้มีระบบหรือกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัท อย่างเหมาะสม โดยกำหนดองค์ประกอบ ขอบเขต หน้าที่ความรับผิดชอบ เพื่อให้คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. องค์ประกอบ และคุณสมบัติ

  • 2.1 คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงประกอบด้วยกรรมการบริษัทที่เป็นกรรมการอิสระอย่างน้อย 2 ท่าน ผู้บริหาร พนักงานที่รับผิดชอบงานด้านบัญชีและการเงิน และอาจประกอบด้วยบุคคลภายนอกผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยงไม่เกิน 2 ท่านก็ได้ โดยค่าตอบแทนของอนุกรรมการซึ่งเป็นบุคคลภายนอกให้ใช้อัตราเดียวกันกับอนุกรรมการที่เป็นกรรมการบริษัท ตามอัตราตำแหน่งที่ได้รับอนุมัติจากมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ซึ่งผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ ตามที่กำหนดไว้ใน ข้อ 9 ของกฎบัตรฉบับนี้
  • 2.2 คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง ต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจในธุรกิจของบริษัท หรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทให้บรรลุตามวัตถุประสงค์
  • 2.3 ประธานคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง ต้องไม่ดำรงตำแหน่งประธรรมการบริษัท

3. การแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง

  • 3.1 การแต่งตั้ง
    • 3.1.1 คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัทหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
    • 3.1.2 คณะกรรมการบริษัทหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นผู้แต่งตั้งประธานอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง
    • 3.1.3 ให้บริษัทพิจารณาเสนอพนักงานบริษัททำหน้าที่เลขานุการโดยให้คณะกรรมการบริษัทหรือ คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงให้ความเห็นชอบ
  • 3.2 การดำรงตำแหน่ง
    • 3.2.1 อนุกรรมการบริหารความเสี่ยงที่เป็นกรรมการอิสระมีวาระการดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติงานตามวาระตำแหน่งกรรมการบริษัท
    • 3.2.2 อนุกรรมการบริหารความเสี่ยงที่เป็นผู้บริหารหรือพนักงานของบริษัทมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง เว้นแต่คณะกรรมการบริษัทจะมีมติเป็นอย่างอื่น
    • 3.2.3 อนุกรรมการบริหารความเสี่ยงที่เป็นบุคคลภายนอกซึ่งมิได้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทหรือผู้บริหารของบริษัทมีวาระการดำรงตำแหน่ง คราวละ 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งและเมื่อครบกำหนดตามวาระอาจได้รับพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงต่อไปอีกก็ได้
    • 3.2.4 อนุกรรมการบริหารความเสี่ยงที่ครบวาระ มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งให้กลับมาดำรงตำแหน่งได้อีก หากได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น
  • 3.3 การพ้นจากตำแหน่ง

    นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อนุกรรมการบริหารความเสี่ยงพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

    • ลาออก
    • คณะกรรมการบริษัทมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
    • ตาย
    • อายุครบ 75 ปี บริบูรณ์

4. อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ

  • 4.1 อำนาจของอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง
    • 4.1.1 คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง มีอำนาจให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายจัดการแผนกต่างๆ ของบริษัท ชี้แจงข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเชิญผู้บริหารและพนักงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมกับคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อชี้แจงหรือให้ข้อมูลตามส่วนงานที่รับผิดชอบ
    • 4.1.2 คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงมีอำนาจมอบหมายให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายจัดการของบริษัท ดำเนินการ หรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดเท่าที่จำเป็นเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบที่กำหนดในกฎบัตรนี้ หรือหน้าที่พิเศษอื่นใด ตามที่คณะอนุกรรมการมอบหมายและคณะกรรมการบริษัทเห็นชอบ
  • 4.2หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมกรรมการบริหารความเสี่ยง
    • 4.2.1 พิจารณาและให้ความเห็นต่อร่างนโยบายและกรอบการบริหารความเสี่ยงองค์กร ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาให้ความเห็นและอนุมัติ
    • 4.2.2 พิจารณาและให้ความเห็นในผลการประเมินความเสี่ยง แนวทาง และมาตรการจัดการความเสี่ยงและแผนปฏิบัติการเพื่อจัดการป้องกันความเสี่ยงของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัท มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอและเหมาะสม
    • 4.2.3 ดูแลและสนับสนุนให้การบริหารความเสี่ยงองค์กรประสบความสำเร็จ เสนอแนะวิธีป้องกัน และวิธีลดระดับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ติดตามแผนการดำเนินงานเพื่อลดความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และเหมาะสมกับสภาวะการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจว่าความเสี่ยงได้รับการบริหารจัดการอย่างเพียงพอและเหมาะสม
    • 4.2.4 ให้คำแนะนำและการสนับสนุนแก่คณะกรรมการบริษัท ฝ่ายจัดการ และคณะทำงานบริหารความเสี่ยง ในเรื่องการบริหารความเสี่ยงระดับองค์กร รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปรับปรุง และพัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยงภายในองค์กรอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
    • 4.2.5 ดูแลและสนับสนุนให้มีการสอบทานและทบทวนนโยบายและกรอบการบริหารความเสี่ยงองค์กรเป็นประจำอย่างน้อยทุกปี เพื่อให้แน่ใจว่านโยบาย และกรอบการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว ยังคงสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพการดำเนินธุรกิจในภาพรวม และกิจกรรมการบริหารความเสี่ยงของบริษัท
    • 4.2.6 รายงานความเสี่ยงที่สำคัญขององค์กร รวมถึงสถานะของความเสี่ยง แนวทางในการจัดการความเสี่ยง ความคืบหน้า และผลของการบริหารความเสี่ยงให้แก่คณะกรรมการบริษัท เพื่อรับทราบเป็นประจำ
    • 4.2.7 ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท

5. การประชุม

  • 5.1 คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงต้องประชุมเป็นประจำอย่างน้อยไตรมาสละ 1ครั้ง โดยคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงสามารถเชิญบุคคลใด ๆ ที่ไม่ใช่อนุกรรมการบริหารความเสี่ยงเข้าร่วมการประชุมได้
  • 5.2 ในการประชุมแต่ละครั้ง ต้องมีอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงเข้าร่วมประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนอนุกรรมการที่มีอยู่ในขณะนั้นจึงถือเป็นองค์ประชุม
  • 5.3 ประธานอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงอาจเรียกประชุมคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงได้เป็นกรณีพิเศษ หากมีการร้องขอจากอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อพิจารณาประเด็นความเสี่ยงองค์กรที่สำคัญเพิ่มเติมที่จำเป็นต้องหารือร่วมกัน
  • 5.4 คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงอาจเชิญบุคคลที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องที่อยู่ในวาระการประชุมเข้าร่วมประชุม หรือนำเสนอข้อมูลได้
  • 5.5 เลขานุการคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงมีหน้าที่นัดหมายการประชุม จัดเตรียมวาระการประชุม นำส่งเอกสารประกอบการประชุม และบันทึกรายงานการประชุม ทั้งนี้ หนังสือเชิญประชุม และเอกสารประกอบการประชุมให้นำส่งล่วงหน้า 7 วันก่อนการประชุม เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัทจะแจ้งนัดประชุมโดยวิธีอื่นและกำหนดวันประชุมในเร็วกว่านั้นก็ได้
  • 5.6 ในการลงมติของคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง ให้ประธานอนุกรรมการและอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงมีเสียงคนละหนึ่งเสียง และให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ กรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงมีสิทธิลงคะแนน อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

6. การรายงาน

คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงรับทราบ ทบทวนรายงานการบริหารความเสี่ยง และรายงานที่เกี่ยวข้อง เช่น รายงานสถานะความเสี่ยงขององค์กร เพื่อให้มั่นใจว่ากรอบและแนวทางการบริหารความเสี่ยง สามารถยึดถือปฏิบัติต่อไปได้และมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของบริษัท โดยมีการนำเสนอรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยงองค์กรเป็นประจำ เช่น รายเดือน หรือ รายไตรมาส เพื่อให้แน่ใจว่าคณะกรรมการบริษัทรับทราบและตระหนักถึงความเสี่ยงสำคัญที่องค์กรเผชิญอยู่ และปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานะความเสี่ยงขององค์กรในอนาคต

7. การประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเอง (Self-Assessment)

คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเอง และรายงานให้คณะกรรมการบริษัททราบปีละครั้ง

8. การทบทวนกฎบัตร

คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงจะสอบทานและทบทวนความเหมาะสมของกฎบัตรอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่า เนื้อหาในกฎบัตรมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงของบริษัท โดยกฎบัตรที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างมีนัยสำคัญจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท

9. ค่าตอบแทนกรรมการ

คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนทำหน้าที่พิจารณากำหนดค่าตอบแทน ประธานและกรรมการบริหารความเสี่ยง และขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท เพื่อนำเสนอขออนุมัติที่ประชุมสามัญประจำปี

คณะกรรมการอนุมัติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ทบทวนครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566

นายธัชพล กาญจนกูล
ประธานกรรมการบริษัท
บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน)
-->